Skip links

ซะกาตการค้าตามฤดูกาลคำนวนอย่างไร ?

ซะกาตการค้าตามฤดูกาลคำนวนอย่างไร ?

การค้าที่เป็นฤดูหรือเฉพาะกิจคืออะไร ? 

กล่าวคือการค้าที่ไม่ได้ทำประจำตลอดทั้งปี แต่จะรอดูจังหวะตลาดอยู่เสมอ เมื่อรู้ว่าสินค้าหนึ่งสินค้าใดตลาดกำลังนิยมอยู่ก็รีบซื้อและขายเฉพาะสินค้านั้นในเวลานั้น เมื่อหมดก็รอฤดูสินค้าอื่นๆ ต่อ

การค้าประเภทนี้ถ้าจำนวนต้นทุนรวมถึงกำไรบรรลุจำนวนนิศอบของซะกาต (คือมูลค่าของทองคำหนัก 5.66 บาท) ก็ต้องออกซะกาตจากต้นทุนและกำไร 2.5% โดยไม่ต้องรอคอยให้ครบ 1 ปี หมายถึงเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็หักค่าใช้จ่าย จากนั้นก็จะรู้ว่าได้กำไรเท่าไหร่ก็นำต้นทุนและกำไรมาออกซะกาต ถ้าขายสินค้าไม่หมดก็ให้คิดต้นทุนกับกำไรเฉพาะของสินค้าส่วนที่ขายได้เท่านั้น

ตัวอย่าง

ช่วงชะอฺบานถึงเราะมะฎอนอินทผลัมจะขายดี เราจึงไปรับมาขายเฉพาะฤดูกาลนี้ 

กรณีที่หนึ่ง สมมติต้นทุน 1 แสนบาท เมื่อขายจนหมดได้กำไร 2.5 หมื่นบาท รวมทุนและกำไร 1.25 แสนบาท (ปัจจุบันพิกัดซะกาตอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนบาท) ยังไม่ครบพิกัดก็ไม่ต้องออกซะกาต

กรณีที่สอง ต้นทุน 2 แสนบาท เมื่อขายจนหมดได้กำไร 5 หมื่นบาท รวมทุนและกำไร 250,000 บาท ก็นำส่วนนี้มาคิดซะกาต 2.5% แล้วจ่ายทันทีไม่ต้องรอให้ครบรอบปี 

กรณีที่สาม ยังมีสินค้าบางส่วนเหลืออยู่ถ้าขายจนหใดจะได้อีก 20,000 บาท ก็ยังไม่ต้องคิดซะกาตจากส่วนนี้ เมื่อขายได้เมื่อไหร่ค่อยนำมาคิดซะกาตเพิ่มคือ 2.5% ของ 20,000 บาท

หมายเหตุ หากในรอบปีมีการค้าเช่นนี้เพียงครั้งเดียว หลังจากออกซะกาตการค้านี้แล้ว ก็ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปรวมเพื่อคำนวณซะกาตทรัพย์สินที่ต้องครบรอบปีอีก แต่หากมีการค้าตามฤดูกาลหลายครั้งในรอบปีก็ให้ออกซะกาตทุกรอบ และไม่ต้องนำมาคำนวณซะกาตทรัพย์สินที่ต้องครบรอบปีเช่นกัน

วัลลอฮุอะอฺลัม

Leave a comment