Skip links

อิสลามสอนอย่างไรเมื่อมีคนมาขอทานแต่เรายังไม่มีให้ ?

อิสลามสอนอย่างไรเมื่อมีคนมาขอทานแต่เรายังไม่มีให้ ?

อัลลอฮ์ตรัสว่า

وَءَاتِ ذَا ٱلْقُرْبَىٰ حَقَّهُۥ وَٱلْمِسْكِينَ وَٱبْنَ ٱلسَّبِيلِ وَلَا تُبَذِّرْ تَبْذِيرًا ‎﴿٢٦﴾‏ إِنَّ ٱلْمُبَذِّرِينَ كَانُوٓا۟ إِخْوَٰنَ ٱلشَّيَٰطِينِ وَكَانَ ٱلشَّيْطَٰنُ لِرَبِّهِۦ كَفُورًا ‎﴿٢٧﴾‏ إِمَّا تُعْرِضَنَّ عَنْهُمُ ٱبْتِغَآءَ رَحْمَةٍ مِّن رَّبِّكَ تَرْجُوهَا فَقُل لَّهُمْ قَوْلًا مَّيْسُورًا ‎﴿٢٨﴾

ความว่า “และจงให้สิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด และผู้ขัดสน และผู้เดินทาง และอย่าสุรุ่ยสุร่ายอย่างฟุ่มเฟือย (26) แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน และชัยฏอนนั้นเนรคุณต่อพระเจ้าของมัน (27) และหากเจ้าผินหลังให้พวกเขา เพื่อแสวงหาความเมตตาจากพระเจ้าของเจ้าโดยหวังมันอยู่ ดังนั้น จงกล่าวแก่พวกเขาด้วยถ้อยคำที่นิ่มนวล (28)” (อัลอะอฺรอฟ อายะฮ์ที่ 26-28)

นี่คือคำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สินที่อัลลอฮ์ได้ประทานมันแก่เราในฐานะผู้แทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน เริ่มต้นด้วยการสอนให้เรามอบสิทธิแด่ญาติใกล้ชิดโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นก็กระจายความช่วยเหลือในวงกว้างออกไปแก่บรรดาผู้ขัดสนและผู้เดินทางที่ถูกตัดขาดจากครอบครัวและทรัพย์สินที่บ้านเกิดของเขา และพระองค์ย้ำในท้ายอายะฮ์ว่าอย่าใช้จ่ายเงินไปในทางหะรอม อย่าจ่ายเงินไปในการฝ่าฝืนพระองค์โดยตรง หรือการจ่ายในทางหะลาลมากเกินจำเป็นก็จะเข้าข่ายสุรุ่ยสุร่ายที่เป็นบาปโดยพระองค์ได้บอกในอายะฮ์ถัดมาว่าผู้กระทำเช่นนั้นประหนึ่งเป็นพี่น้องของชัยฏอนมารร้ายที่เนรคุณต่อความโปรดปรานของพระเจ้าของพวกมัน

อายะฮ์ถัดมากล่าวถึงบางช่วงจังหวะในชีวิตที่เราอาจจะมีคนมาขอความช่วยเหลือและเราอยากช่วยแต่ไม่มีทรัพย์สินที่จะช่วยได้ อัลลอฮ์สอนว่าให้เราปฏิเสธพวกเขาอย่างดี ให้พูดดีแก่พวกเขา ไม่ใช่ไล่ตะเพิดหรือด่าทอพวกเขาที่ดันมาขอเราในช่วงที่เราก็เครียดกับสถานะทางการเงินของตัวเองเช่นกัน และที่ดีก็ให้ดุอาอ์แก่พวกเขาให้อัลลอฮ์ช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากความยากลำบากนี้ ขออัลลอฮ์ประทานริซกีที่ดีและพอเพียงแก่พวกเขา เป็นต้น และหากเรามีความประสงค์จะช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ ก็ให้สัญญากับพวกเขาได้ว่าเมื่อไรที่อัลลอฮ์ให้ริซกีแก่เราอย่างเพียงพอแล้วเราก็จะแบ่งส่วนหนึ่งของมันให้แก่พวกเขาด้วยเช่นกัน

สุบหานัลลอฮ์ ! ช่างเป็นคำแนะนำที่สวยงามเสียนี่กระไร จงใช้เงินอย่างดีไม่ฟุมเฟือยจะได้มีเหลือไว้ช่วยผู้อื่น แต่หากบางช่วงอยากช่วยแต่ยังไม่มีจริงๆ ก็ให้สัญญาไว้ก่อนได้ และให้พูดดีหรือดุอาอ์แก่ผู้ขอแทนอันถือเป็นการทำทานในอีกรูปแบบหนึ่ง นี่คือคำแนะนำที่ควรนำไปปรับใช้ในชีวิตของเราเป็นอย่างยิ่ง

สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment