Skip links

ถ้ายังมีความสามารถ จงแสวงหารายได้จากการทำงาน ไม่ใช่ขอทาน

ถ้ายังมีความสามารถ จงแสวงหารายได้จากการทำงาน ไม่ใช่ขอทาน

แม้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่เคยปฏิเสธผู้มาขอทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) จากท่าน แต่ในบางครั้งท่านก็ไม่ได้ให้ตามเจตนาของผู้ขอ ทว่าให้สิ่งที่ดีกว่าแก่เขา

ในหะดีษที่บันทึกโดยอบูดาวูดและอิบนุมาญะฮฺ มีชายคนหนึ่งจากชาวอันศอรมาหาท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อขอทานจากท่าน ท่านนบีมุฮัมมัดจึงถามเขาว่าที่บ้านของท่านไม่มีอะไรเลยหรือ ? เขาบอกว่ามีครับ มีผ้าหยาบๆ หนึ่งผืนที่บางคนในบ้านเราใช้ปูนอนบ้างก็ใช้ห่ม และมีถ้วยหนึ่งใบที่เราใช้ตักน้ำมาดื่ม ท่านนบีจึงบอกให้เขาไปนำทั้งสองอย่างมาให้ท่าน

แล้วเขาก็กลับไปนำมันมาให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านได้รับมันมาจากเขาแล้วท่านก็เอ่ยถามว่ามีใครที่ต้องการซื้อของสองอย่างนี้บ้าง ? พลันก็มีชายคนหนึ่งกล่าวว่าฉันจะซื้อมันในราคา 1 ดิรฮัม

ท่านนบีได้ถามต่อว่ามีใครให้มากกว่านี้หรือไม่ ? โดยท่านได้กล่าวอีก 2-3 ครั้ง แล้วชายอีกคนก็กล่าวว่าฉันจะซื้อมันในราคา 2 ดิรฮัม แล้วท่านนบีก็ได้มอบมันแก่เขาแล้วรับเงิน 2 ดิรฮัมมาจากนั้นก็มอบให้ชายชาวอันศอรโดยบอกเขาว่า จงใช้ 1 ดิรฮัมในการซื้ออาหารสำหรับครอบครัวของท่าน และจงใช้อีก 1 ดิรฮัมที่เหลือไปซื้อขวานแล้วนำมันมาให้ฉัน

ชายคนนั้นจากไปสักครู่หนึ่งก็กลับมาหาท่านนบีมุฮัมมัดพร้อมด้วยขวานหนึ่งเล่ม ท่านนบีมุฮัมมัดจึงบอกให้เขาเข้าไปตัดฟืนในป่าเพื่อนำมาขาย โดยมิต้องกลับมาพบท่านอีกอีกภายในระยะเวลา 15 วัน ชายคนนั้นก็เข้าไปหาฟืนและนำมาขาย เมื่อครบ 15 วันเขาจึงมาหาท่านนบีมุฮัมมัดโดยเขาหาเงินได้ 10 ดิรฮัมแล้ว และได้ใช้เงินบางส่วนซื้อเสื้อและอาหาร 

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจึงกล่าวว่า เช่นนี้แหละเป็นการดีกว่าที่ท่านจะไปปรากฏในวันกิยามะห์ โดยมีเครื่องหมายการขอทานปรากฏบนใบหน้าของท่าน แท้จริงการขอทานนั้นเป็นสิ่งที่ต้องห้าม นอกจากแก่บุคคลสามจำพวกคือ 1.ผู้ยากจนข้นแค้น 2.ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 3.ผู้ไม่มีเงินจ่ายค่าทำขวัญ (จากการฆ่าชีวิตอื่นโดยไม่เจตนา)

แน่นอนว่าท่านนบีคือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญา ท่านรู้จักเศาะหาบะฮฺแต่ละคนเป็นอย่างดี ท่านจึงเลือกสอนชายคนนี้ด้วยการให้อาชีพแทนที่จะให้ทรัพย์สินหรือสิ่งของ และสุดท้ายมันก็ทำให้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างดี

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment