ทำไมสินเชื่อมุรอบะหะฮฺจึงไม่ให้เป็นตัวเงิน ?
สมาชิกหรือผู้สนใจหลายคนยังคงสงสัยว่าทำไมเวลาต้องการขอสินเชื่อจากสหกรณ์เพื่อไปซื้อสินค้าจึงไม่ได้รับเงินเหมือนสถาบันการเงินทั่วไปทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร
คำตอบก็คือ ศาสนาอนุญาตให้ค้าขายแต่ไม่อนุญาตให้กู้ยืมโดยมีดอกเบี้ย ดังที่อัลลอฮ์ตรัสว่า
وَأَحَلَّ اللَّهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا
ความว่า “และอัลลอฮ์ทรงอนุมัติการค้า และทรงห้ามริบา (ดอกเบี้ย)” (อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 275)
ดังนั้นสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺจึงไม่สามารถที่จะให้กู้โดยให้เงินเปล่าแก่สมาชิกผู้มาขอสินเชื่อโดยไม่มีการซื้อขายสินค้า เพราะจะกลายเป็นการให้กู้โดยมีดอกเบี้ยซึ่งผิดหลักการอย่างชัดเจนและเป็นบาปใหญ่
ตัวอย่าง ผู้กู้ต้องการรถยนต์แต่ไม่มีเงินหรือมีไม่พอ อยากขอสินเชื่อจากสหกรณ์ 1 ล้านบาท ซึ่งในกรณีของสหกรณ์ทั่วไปหรือธนาคารทั่วไปที่ไม่ใช่ธนาคารอิสลามก็จะทำสัญญาเงินกู้โดยให้เงินเปล่าแก่ผู้กู้ 1 ล้านบาท แล้วผู้กู้ต้องชำระคืนให้แก่ผู้ให้กู้ (สถาบันการเงิน) โดยมีส่วนต่างซึ่งในสัญญาระบุชัดเจนว่าเป็นดอกเบี้ยจำนวนเท่านั้นเท่านี้ เช่น ยอดสินเชื่อรวม 1,200,000 บาทโดยแบ่งชำระเป็นรายเดือนจำนวนเท่านั้นเท่านี้บาทจนกระทั่งครบสัญญา ซึ่งสัญญากู้ยืมเช่นนี้เป็นธุรกรรมที่ขัดกับหลักการศาสนาอย่างชัดเจน
ส่วนสัญญามุรอบะหะฮ์ไม่ใช่สัญญากู้ยืม แต่เป็นการให้สินเชื่อโดยการซื้อขายสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาต เช่น สมาชิกต้องการซื้อรถยนต์ จึงมาขอสินเชื่อกับสหกรณ์ สหกรณ์จึงไปซื้อรถตามรายละเอียดที่สมาชิกต้องการ เมื่อสินค้านั้นกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์แล้ว จึงทำสัญญาซื้อขายแบบมุรอบะหะฮฺ (บวกกำไร) ให้แก่สมาชิกผู้ขอสินเชื่อ เช่น ขายในราคา 1,200,000 บาท ตามที่ตกลงกัน จากนั้นสหกรณ์ก็มอบสินค้าให้สมาชิกโดยตกลงกันว่าสมาชิกจะชำระค่าสินค้าให้แก่สหกรณ์เป็นรายเดือน จำนวนเท่านั้นเท่านี้บาทจนกระทั่งครบสัญญา
จะสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง 2 รูปแบบ
แบบแรก สถาบันการเงินทั่วไป มอบเงินให้ผู้กู้ เกิดเป็นสัญญากู้ยืม ผู้กู้ได้เงิน แล้วจึงเอาไปซื้อสินค้าเอง
แบบหลัง สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ ซื้อสินค้ามาขายให้สมาชิก สมาชิกจะไม่ได้เงินจากสหกรณ์แม้แต่บาทเดียว แต่จะได้สินค้าที่ต้องการโดยตรง
#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ
