Skip links

มุชาเราะกะฮ์ คืออะไร ?

มุชาเราะกะฮ์ คืออะไร ?

มุชาเราะกะฮ์ (مشاركة) คือหลักการเป็นหุ้นส่วนกัน เช่นการเป็นหุ้นส่วนกันในการทำธุรกิจ เราต้องการทำธุรกิจแต่มีเงินทุนไม่พอ ถ้าเราหาเงินยืมปลอดดอกเบี้ยไม่ได้ ศาสนาก็ยังมีช่องทางให้เรามีทุน หนึ่งในนั้นก็คือการหาหุ้นส่วน จะเป็นคนที่เรารู้จัก เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนอื่นที่มีเงินทุนและอยากจะทำธุรกิจ เราก็เอาเงินทุนมาร่วมกัน ใครมีเท่าไหร่ ใครลงทุนหรือลงหุ้นได้เท่าไหร่ก็ถือสัดส่วนหุ้นในบริษัทตามเงินลงทุนที่ตนเองมี 

เช่น เราจะจัดตั้งบริษัทนำเข้า-ส่งออกอินทผลัม แต่เรามีทุนน้อย เราจึงเปิดระดมทุน 1 ล้านบาทเพื่อตั้งบริษัทขึ้นมา ซึ่งอิสลามไม่ได้บังคับว่าต้องมีหุ้นส่วนกี่คน แต่ละคนต้องถือหุ้นจำนวนเท่าไหร่ อิสลามเปิดกว้างในเรื่องนี้ ใครมีทุนมากหน่อย อยากถือหุ้นสัก 5 แสนบาทหรือครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็คนอื่นมาร่วมลงทุนคนละ 1 แสนบาทก็ได้ หรือจะถือหุ้นจำนวนเท่าๆ กัน 10 คน คนละ 1 แสนบาทก็ได้ ทำสัญญากันให้ชัดเจนป้องกันความขัดแย้งในภายหลัง จากนั้นก็นำเงินไปประกอบธุรกิจ

เมื่อดำเนินธุรกิจครบตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปี หากมีกำไรสุทธิ หุ้นส่วนแต่ละคนก็จะได้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนหุ้นที่ตัวเองมีเช่น ถ้าถือหุ้น 50% แล้วธุรกิจมีกำไร 1 แสนบาท เขาก็ได้ส่วนแบ่งกำไร 5 หมื่นบาท หรือ 50% ของกำไรสุทธิ ส่วนที่เหลือก็แบ่งให้หุ้นส่วนคนอื่นตามสัดส่วนเช่นกัน

แต่หากผลประกอบการออกมาเป็นลบ ขาดทุนในรอบบัญชีนั้น หุ้นส่วนทุกคนก็จะต้องรับการขาดทุนตามสัดส่วนหุ้นของตัวเองเช่นเดียวกัน ใครถือหุ้นมากก็ขาดทุนมาก ใครถือหุ้นน้อยก็ขาดทุนน้อย 

ทั้งนี้สำหรับธุรกรรมแบบมุชาเราะกะฮ์นั้น ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้ลงมือทำธุรกิจเองด้วยก็มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทน (เงินเดือน) จากการดำเนินงานเหล่านั้น และเมื่อถึงคราวแบ่งกำไรผู้ถือหุ้นเขาก็จะได้รับส่วนแบ่งด้วยเช่นกัน ส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้ลงแรงทำงานด้วยก็จะมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งกำไรเท่านั้น

มุชาเราะกะฮ์จึงเป็นธุรกรรมที่ถูกต้องตามหลักการ มีความยุติธรรมและเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย

ในครั้งหน้าเราจะพูดถึงธุรกรรมแบบมุฎอเราะบะฮ์กันบ้าง อินชาอัลลอฮ์

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment