Skip links

จากนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จสู่บุคคลล้มละลายเพราะใช้จ่ายเกินจำเป็น

จากนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จสู่บุคคลล้มละลายเพราะใช้จ่ายเกินจำเป็น

ริชาร์ด ฟัสโคน เป็นผู้บริหารบริษัท Merrill Lynch Money Markets เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพร้อมทั้งมีปริญญาโท MBA เขาประสบความสำเร็จในสายอาชีพด้านการเงินซึ่งทำให้เขาสามารถเกษียณได้ในช่วงอายุ 40 ปี

เดวิด โคมานสกีย์ อดีต CEO ของบริษัท Meni กล่าวยกย่องฟัสโคนว่า “มีความรอบรู้ทางธุรกิจ มีทักษะของผู้นำ มีวิจารณญาณที่ดีและเป็นคนที่มีความชื่อสัตย์” 

ในช่วงกลางปี 2000 ฟัสโคนได้กู้ยืมเงินก้อนใหญ่มาเพื่อต่อเติมบ้านขนาด 18,000 ตารางฟุตของเขาที่ตั้งอยู่ที่เมืองกรีนิช รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีห้องน้ำ 2 ห้อง ลิฟต์ 2 ตัว สระว่ายน้ำ 2 สระ โรงจอดรถ 7 หลัง ต้องใช้เงินในการดูแลรักษามากกว่า 90,000 เหรียญต่อเดือน (คิดเป็นเงินไทยก็ราวเดือนละ 3.4 ล้านบาท หรือปีละ 40.8 ล้านบาท)

จากนั้นวิกฤตการเงินปี 2008 (วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ก็เข้าจู่โจม วิกฤตครั้งนั้นได้ทำร้ายการเงินของทุกคนอย่างแท้จริง (ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ที่ผู้ได้รับผลกระทบส่วนมากเป็นคนรวย และวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้ได้รับผลกระทบส่วนมากเป็นคนจนไปถึงคนระดับกลาง) 

บ้านของฟัสโคนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า หนี้จำนวนมากและสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องทำให้เขาต้องล้มละลาย จากคนที่ครั้งหนึ่งนิตยสารธุรกิจรายสัปดาห์ที่ชื่อ Crain’s New York Bussiness ได้ยกย่องให้เป็น 1 ใน 40 นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แต่เมื่อเจอวิกฤตเขาบอกกับผู้พิพากษาว่า “ตอนนี้ผมไม่มีรายได้เลย”  

การล้มละลายในปี 2008 ทำให้บ้านที่ปาล์มบีชของเขาโดนยึดไปเป็นสิ่งแรก ตามด้วยคฤหาสน์ที่กรีนิชซึ่งแขกเหรื่อต่างจดจำได้ว่ามันเป็น “ความตื่นเต้นของการรับประทาน อาหารและการเต้นรำอยู่บนพื้นที่สามารถมองทะลุเห็นสระว่ายน้ำที่อยู่ภายในบ้าน” ซึ่งในปี 2014 ก็ถูกประมูลขายทอดตลาดไปด้วยราคาที่ต่ำกว่า 75% ของราคาที่บริษัทประกันประเมินไว้

การประสบความสำเร็จ มีรายได้เพียงพอจนเกษียณได้อย่างรวดเร็วหรือมีอิสรภาพทางการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อเกษียณแล้วเราจำเป็นต้องมีความฉลาดในการบริหารจัดการเงินด้วย ถ้าการเกษียณหมายถึงเราจะหยุด active income ไม่ทำงานแลกเงินแล้ว เราก็ต้องวางแผนให้ดีว่า passive income หรือเงินที่งอกเงยจากสินทรัพย์นั้นจะมาจากช่องทางไหนบ้าง มีจำนวนเท่าไรและจะใช้ได้ต่อเนื่องยาวนานเพียงใด 

เราต้องบริหารจัดการเงินให้อยู่กับเราได้นานที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องพร้อมรับมือทั้งในสถานการณ์ปกติและในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ แค่ไม่รู้ว่าเมื่อใดในอนาคต และสิ่งที่ควรหลีกหนีให้ไกลที่สุดก็คืออย่าใช้เงินเกินตัว เกินความจำเป็น โดยเฉพาะการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ เพราะวันใดเกิดวิกฤตขึ้นมาชีวิตของเราก็อาจพังทลายเหมือนฟัสโคนก็เป็นได้

ขออัลลอฮ์โปรดประทานความฉลาดทางการงานและการเงินให้แก่เราด้วยเถิด อามีน

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment