Skip links

เลิกช็อปไม่ได้ ทำยังไงถึงจะมีเงินเก็บ?

เลิกช็อปไม่ได้ ทำยังไงถึงจะมีเงินเก็บ?

ในกระแสธารแห่งการบริโภคนิยม สิ่งเร้ารอบตัวเรามีเยอะมากแถมยังบุกรุกเราถึงพื้นที่ส่วนตัวด้วย ทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ สื่อโฆษณาต่างๆ ก็สามารถโผล่มาให้เราได้ยลได้ฟังผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเรา ความถี่ที่สื่อเหล่านี้ปรากฏและรูปแบบที่ดึงดูดก็มากพอที่จะกระตุ้นความอยากได้อยากมีจนทำให้เรากลายเป็นขาช็อปคนหนึ่งไปเสียแล้ว 

ถ้าอย่างนั้นเราจะทำยังไงดีเราถึงจะมีเงินเก็บกับเขาได้บ้าง?

1.เก็บก่อนใช้ เราแนะนำเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งเพราะเป็นวิธีเดียวที่รับประกันได้ว่าอย่างไรเสียเดือนนั้นเราก็จะมีเงินเก็บอย่างแน่นอนไม่ว่าจะมีรายจ่ายเท่าไหร่ และเงินเก็บส่วนนี้เราก็จะมองให้เหมือนรายจ่ายหนึ่งไปเลย ทว่ามันเป็นการจ่ายเพื่ออนาคตของเรายังไงล่ะ

2.ตั้งงบประมาณสำหรับการช็อป อันที่จริงเราควรตั้งงบประมาณสำหรับรายจ่ายทุกประเภทและก็ควรมีวินัยในการใช้จ่ายตามนั้นอย่าเกินงบที่ตั้งไว้ ไม่อย่างนั้นงบประมาณเหล่านี้ก็จะเหมือนกฎหมายที่ไม่ถูกปฏิบัติตามซึ่งจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปตามกาลเวลา มีก็เหมือนไม่มี ฉะนั้นตั้งงบประมาณเอาไว้ให้ดีแล้วพยายามทำตามให้ได้ สัดส่วนของงบช็อปก็ดูเอาแต่พอดีด้วยนะครับ ลองดูเท่าๆ กับเงินออมก็ได้

3.หักภาษีการช็อป นี่เป็นเทคนิคที่ประยุกต์ใช้มาจากเรื่องภาษีจะจ่ายแบบ VAT 7% หรือภาษี ณ ที่จ่าย 10% ก็ตามสะดวก จะเอามากกว่านี้ก็ยังได้ถ้าใจถึง 15% 20% ก็ว่าไป เรียกได้ว่าไม่ต้องรอโครงการช็อปดีมีคืนของภาครัฐ เราช็อปเองได้ก็หักภาษีการช็อปเองไปเลย ยิ่งช็อปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเงินออมมากเท่านั้น (แต่อย่าช็อปเกินงบประมาณในข้อ 2 นะจ๊ะ)

4.ยืดเวลาการช็อป หมายถึงอะไรที่อยากได้ให้จดเอาไว้ก่อนอย่าเพิ่งซื้อ ถ้าเป็นแพลตฟอร์มช็อปปิ้งก็โยนใส่รถเข็นเอาไว้ก่อนให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ฉันหมายปองอยากได้มาครอบครองสักวัน แต่เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งกดชำระเงินล่ะ ให้ปล่อยมันไว้อย่างนั้นสัก 1 เดือน (หนังสือบางเล่มแนะนำเช่นนั้น) 

ถ้าครบเวลาแล้วเปิดดูปรากฏว่ามันยังทำให้ใจเต้นรัวๆ เหมือนครั้งแรกที่อยากได้ แสดงว่าเราอยากได้มันจริงๆ อาจจะไม่จำเป็นหรอกแต่มีคุณค่าทางจิตใจ ไม่เป็นไรไม่ว่ากันกดซื้อมันซะเลยเพราะเราตั้งงบประมาณไว้แล้วนี่นะ 

แต่ถ้าครบเวลาแล้วปรากฏว่ามันไม่ทำให้ใจเราเต้นแรงแล้ว รู้สึกเฉยๆ กับมัน แสดงว่าตอนแรกนั้นเราถูกกระแสบางอย่างทำให้เคลิ้มตามก็เท่านั้นเอง แบบนี้ก็อย่าไปซื้อ ลบออกจากสมุดจดหรือตระกร้าในแอปฯ ได้เลย เท่านี้ก็จะเหลือเงินไว้ช็อปอย่างอื่นแล้ว

5.งบช็อปยกยอดมา ข้อนี้ถือเป็นรางวัลแด่คนช่างช็อปก็แล้วกัน ในแต่ละเดือนที่เราช็อปภายในงบประมาณที่ตั้งไว้ เหลือเท่าไหร่ให้ยกยอดมารวมกับเดือนถัดๆ ไป ก็จะทำให้งบช็อปในบางช่วงนั้นก้อนใหญ่กว่าปกติสามารถช็อปได้จำนวนสินค้าที่มากขึ้นหรือได้สินค้าที่มีราคาแพงขึ้นโดยไม่ต้องสร้างภาระหนี้นั่นเอง แต่ก็อย่าลืมข้อ 3 นะ ช็อปได้ก็ออมด้วย!

ตัวอย่าง ตัสนีมเป็นสาวนักช็อป แต่ก็รู้ดีว่าถ้ายังช็อปแบบขาดสติเหมือนเดิม ถึงจุดหนึ่งก็จะขาดสตางค์ด้วย จึงเริ่มทำตามเทคนิคข้างต้น เงินเดือน 20,000 ที่หาได้

1.ออมทันที 10% = 2,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากมุชาเราะกะฮฺของสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ

2.งบประมาณสำหรับการช็อป 10% = 2,000 บาท

3.หักภาษีการช็อป 10% หมายความว่าถ้าช็อปเต็มงบทุกเดือนจะได้เงินออมเพิ่มจากส่วนนี้ 200 บาท

4.เดือนมกราคมสามารถยืดเวลาการช็อปสินค้าในตระกร้าได้ทั้งหมด

5.เดือนกุมภาพันธ์ตัสนีมจะมีงบช็อป 2,000 + 2,000 = 4,000 บาท และถ้าช็อปจนหมดนี้ก็จะมีเงินออมจากภาษีการช็อปอีก 400 บาทสำหรับเดือนกุมภาพันธ์

เห็นไหมล่ะครับขาช็อปก็มีเงินเก็บได้ถ้ารู้จักวางแผนและทำตามมันอย่างมีวินัย ทีนี้ก็ได้ทั้งความสุขจากการช็อป ได้ของมาใช้ ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ แถมยังได้เงินออมไว้เพื่ออนาคตอีกด้วย เปลี่ยนวิธีแค่นิดเดียวชีวิตเปลี่ยนกันยาวๆ เลยครับ

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment