Skip links

พึงระวังการล่าช้าในการชำระหนี้สินจนกระทั่งเสียชีวิต

พึงระวังการล่าช้าในการชำระหนี้สินจนกระทั่งเสียชีวิต

ในหะดีษบทหนึ่งที่บันทึกโดยอัลหากิม จากญาบิร อิบนุ อับดิลลาอฮ์ รายงานว่า “ชายคนหนึ่งได้เสียชีวิต พวกเราจึงอาบน้ำและห่อศพเขา จากนั้นก็วางศพ ณ สถานที่ที่เตรียมไว้เพื่อรอให้ท่านเราะสูลุลลอฮ์มานำละหมาดให้แก่เขา และเมื่อเดินทางมาถึงท่านเราะสูลก็ถามว่า “สหายของพวกท่านมีหนี้สินหรือไม่?” พวกเขาตอบว่า “ครับ เขามีหนี้สินเป็นเงินสองดีนาร” ท่านเราะสูลจึงถอยออกมาแล้วกล่าวว่า “พวกท่านจงละหมาดให้สหายของพวกท่านเถิด”

ชายคนหนึ่งชื่ออบูเกาะตาดะฮ์จึงกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ฉันจะรับผิดชอบเงินสองดีนารให้เขาเอง” ท่านเราะสูลจึงถามย้ำว่า “ท่านจะรับผิดชอบในการชดใช้หนี้สินแทนผู้ตายเป็นเงินสองดีนารจากทรัพย์สินของท่านและถือว่าผู้ตายได้พ้นภาระหนี้สินใช่ไหม?” เขาตอบว่า “ครับ” เมื่อนั้นท่านเราะสูลจึงยอมละหมาดให้แก่ผู้ตาย

หลังจากนั้นในทุกครั้งที่พบอบูเกาะตาดะฮ์ท่านเราะสูลก็จะถามเขาว่า “ท่านจัดการเงินสองดีนารนั่นหรือยัง?” กระทั่งท้ายที่สุดเขาก็กล่าวว่า “ฉันจัดการหนี้สินเรียบร้อยแล้วครับ” ท่านเราะสูลจึงกล่าวว่า

الآن بردت عليه جلده

“ตอนนี้แหละ ผิวหนังของเขาได้เย็นลงแล้ว”

อัลหาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวว่า “หะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นจากหนี้สิน (ในชีวิตหลังความตาย) และยังเป็นหลักฐานว่าถ้าไม่เฎาะรูเราะฮ์ (จำเป็นจริงๆ) ก็อย่าเป็นหนี้เลย” (ฟัตหุลบารี 4/547)

ในหะดีษอีกบทที่บันทึกโดยอัตติรมิซี ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

(نفس المؤمن معلقة بدينه حتى يقضى عنه) رواه الترمذي

ความว่า “วิญญาณของมุอ์มินคนหนึ่งจะถูกกักไว้โดยจะยังไม่ได้รับรางวัลของความดีที่กระทำไว้จนกว่าหนี้สินของเขาจะมีผู้ชดใช้ให้” (บันทึกโดยอัตติรมิซี)

อิมามอัชเชากานีได้อธิบายว่า “หะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นว่า อิสลามได้ส่งเสริมให้ทายาทที่รับมรดกจากผู้ตายจัดการชดใช้หนี้สินแทนเขาโดยเน้นย้ำว่าวิญญาณของเขาจะถูกกักตัวเอาไว้จนกว่าหนี้สินของเขาจะได้รับการชำระ กล่าวคือในกรณีที่ผู้ตายมีทรัพย์เพียงพอในการชดใช้ แต่หากว่าเขาเป็นผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สิน และตายไปโดยมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะชดใช้หนี้สินให้ได้ เช่นนี้ อัลลอฮ์ก็จะทรงชดใช้หนี้สินแทนเขาดังหลักฐานจากหะดีษจำนวนมากที่ยืนยันเรื่องนี้” (นัยลุลเอาฏอร 2/53)

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าอะญัลนั้นไม่มีใครรู้กำหนดการณ์ล่วงหน้า แต่หน้าที่ของเราคือมีเจตนาที่จะชดใช้หนี้สินอย่างสุดความสามารถและพยายามทำตามเจตนานั้น อย่าล่าช้า อย่าผัดผ่อนเว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้นเพื่อที่ภาระหนี้สินจะได้ไม่ติดค้างอยู่อีกหลังจากเราจบชีวิตลงแล้ว เพราะเราก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าผู้สืบทอดมรดกจากเรานั้นจะดำเนินการชดใช้แทนเราหรือไม่ หรือจะมีใครขันอาสารับทำหน้าที่นี้แทนเราหรือเปล่า เราจึงต้องพยายามทำหน้าที่ในส่วนตัวให้ดีเสียก่อนและมอบหมายบั้นปลายต่ออัลลอฮ์

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment