ทองคำแบบใดบ้างที่ต้องนำมาคิดซะกาต ?
เดือนเราะมะฎอนใกล้เข้ามาทุกที หลายคนยึดถือเดือนนี้เป็นจุดนับรอบทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อคิดคำนวณซะกาต แต่อะไรที่ทำแค่ปีละครั้งก็มักจะหลงๆ ลืมๆ กันได้ หรือบางคนอาจเพิ่งมีทรัพย์สินครบพิกัดเป็นครั้งแรกในปีนี้แอดมินจึงอยากชวนทุกคนมาทบทวนความรู้เรื่องซะกาตทองคำไปพร้อมๆ กันครับ
ประการแรก พิกัดที่ต้องนำมาคิดซะกาต ตีกลมๆ ที่น้ำหนักทองคำ 85 กรัม หรือคิดเป็น 5.66 บาทครับ
ประการที่สอง แยกประเภททองคำออกเป็น 1.ทองคำแท่ง และ 2.ทองรูปพรรณ
1.ทองคำแท่งนั้นจำเป็น (วาญิบ) ต้องนำมาคำนวณซะกาตทั้งหมด
2.ทองรูปพรรณนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่ (ญุมฮูร) ถือว่าหากเป็นเครื่องประดับที่นำมาใช้อยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ต้องนำมาคำนวณซะกาตครับ แต่ก็มีทัศนะที่ว่าให้นำมาคิดรวมกับทองคำแท่งด้วยครับ
หมายเหตุ หากเป็นทองรูปพรรณที่ซื้อมาเพื่อขาย (เก็งกำไร) ก็ให้นำมาคำนวณซะกาตด้วยครับ หรือผู้ชายที่มีทองรูปพรรณก็ต้องนำมาคำนวณเช่นกัน เพราะตามหลักศาสนานั้นผู้ชายสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นทองคำไม่ได้ จึงไม่ได้รับการยกเว้นแบบผู้หญิงครับ
ตัวอย่างที่ 1
อามินะฮ์มีทองรูปพรรณเป็นสร้อยคอหนัก 5 บาท จำนวน 1 เส้น
กำไลข้อมือหนัก 2 บาท จำนวน 2 ชิ้น
แหวนหนัก 1 บาท จำนวน 1 วง
น้ำหนักรวม 10 บาท เกินพิกัด 5.66 บาท แต่ทั้งหมดเป็นทองรูปพรรณที่อามินะฮ์สวมใส่จริง จึงไม่ต้องนำมาคำนวณซะกาตตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่
ตัวอย่างที่ 2
ฟาฏิมะฮ์มีทองรูปพรรณเป็นสร้อยคอหนัก 1 บาท จำนวน 1 เส้น
ทองคำแท่งหนัก 10 บาท
น้ำหนักรวม 11 บาท เกินพิกัด 5.66 บาท แต่นำมาคำนวณแค่ทองคำแท่งหนัก 10 บาท
สมมติราคาทองคำแท่งรับซื้อ ณ วันที่คำนวณอยู่ที่บาทละ 30,000 บาท
มูลค่าทองคำจึงเท่ากับ 30,000 x 10 = 300,000 บาท
เป็นจำนวนเงินที่ต้องออกซะกาตทั้งสิ้น 300,000 x 2.5% = 7,500 บาท
ทั้งนี้ถ้ามีเงินสดอยู่ด้วยก็ให้นำมูลค่าทองคำไปรวมกับเงินสดแล้วคำนวณเป็นซะกาตที่ต้องจ่ายครับ วัลลอฮุอะอ์ลัม
#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ