ฟิฏเราะฮฺ ฟิดยะฮฺ กัฟฟาเราะฮฺ ใครต้องจ่ายอันไหนยังไงบ้าง ?
ฟิฏเราะฮฺ – จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในเราะมะฎอนไม่ว่าจะเป็นทาส เป็นไท ชาย หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ โดยต้องจ่ายให้แล้วเสร็จก่อนละหมาดอีดฟิฏร์เท่านั้น (หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรีและมุสลิม)
โดยในประเทศไทยให้จ่ายเป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว 1 ศออ์ หรือประมาณ 2.7 กิโลกรัม (ตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี)
สำหรับข้าวสารฟิฏเราะฮฺของสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ 1 คนต่อ 2 ถุง ถุงละ 1.5 กิโลกรัม รวม 3 กิโลกรัม (เกิน 1 ศออ์)
ฟิดยะฮฺ – ตามทัศนะของอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ คือสำหรับชายชราและหญิงชราที่ไม่สามารถจะถือศีลอดได้ รวมถึงสตรีมีครรภ์หรือแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมบุตรโดยเกรงว่าการถือศีลอดจะกระทบต่อสุขภาพของนางหรือลูกของนาง ซึ่งเป็นทัศนะของอับดุลลอฮ์ อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เช่นกัน และรวมถึงผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีทางหาย
โดยเลือกฟิดยะฮฺได้ 2 วิธีคือ
1.เลี้ยงอาหารพออิ่ม 1 คนต่อ 1 วันที่ไม่ได้ถือศีลอด โดยจะเลี้ยงวันละ 1 คน หรือจะเลี้ยงทีเดียว 30 คนในวันเดียวก็ได้เช่นกันดังที่ท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อท่านอายุมากและถือศีลอดไม่ไหวท่านจะเชิญคนยากจนมาเลี้ยงอาหารที่บ้าน 30 คนในครั้งเดียว
2.ให้เป็นอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร 1 มุด หรือประมาณ 5-6 ขีด ต่อ 1 วันที่ไม่ได้ถือศีลอด หรือถ้ามีความสามารถก็ให้ 2 มุด (เป็นเรื่องดีกว่าแต่ไม่วาญิบ)
สำหรับข้าวสารฟิดยะฮฺของสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ 1 วันต่อ 1 ถุง ถุงละ 1.5 กิโลกรัม (เกิน 2 มุด)
กัฟฟาเราะฮฺ – สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ขณะถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดของเขาในวันนั้นถือว่าเป็นโมฆะ จำเป็นที่เขาจะต้องถือใช้พร้อมการจ่ายกัฟฟาเราะฮฺตามลำดับดังนี้ 1.ปล่อยทาสเป็นอิสระ 1 คน แต่ถ้าไม่สามารถก็ให้ 2.ถือศีลอดติดต่อกัน 2 เดือน แต่ถ้าไม่สามารถก็ให้ 3.ให้อาหารคนยากจน 60 คน (หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรีและมุสลิม)
สำหรับการให้อาหารคนยากจนนั้นจะเลี้ยงอาหารปรุงสุก 60 คนในมื้อเดียวหรือจะจ่ายเป็นอาหารแห้งคนละ 1.5 กิโลกรัม (2 มุด) ก็ได้
อีกจำพวกหนึ่งที่จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮ์คือผู้ที่ผิดคำสาบานโดยต้องเลี้ยงอาหารคนคนยากจน 10 คน หรือให้อาหารแห้งแก่พวกเขาคนละ 1.5 กิโลกรัมก็ได้
สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ