Skip links

วางแผนเกษียณเองไว้ด้วยดีกว่าไหม เมื่อระบบบำนาญไทยยังรั้งท้ายอันดับโลก

วางแผนเกษียณเองไว้ด้วยดีกว่าไหม เมื่อระบบบำนาญไทยยังรั้งท้ายอันดับโลก

ระบบบำนาญถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพการดูแลความกินดีอยู่ดีของประชากรสูงอายุหลังเกษียณจากการทำงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกลุ่มนี้ 12,116,119 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของประชากรทั้งหมด เรียกว่าไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว

ล่าสุด Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์และการบริหารสินทรัพย์จากสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยรายงานประจำปี Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ครั้งที่ 14 ที่เป็นการจัดอันดับระบบบำนาญของประเทศต่างๆ 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรโลก 

สำหรับดัชนีชี้วัดระบบบำนาญโลก MCGPI นั้นให้น้ำหนักไปที่ 3 เรื่องหลัก คือ 

1.ความเพียงพอ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ที่มอบให้กับคนจนและคนมีรายได้ในระดับต่างๆ ตลอดจนการออกแบบคุณลักษณะเด่นต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรายได้หลังเกษียณโดยรวม

2.ความยั่งยืน พิจารณาจากตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนในระยะยาวของระบบปัจจุบัน เช่น อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานของประชากรสูงอายุ และระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง 

3.ความครบถ้วน พิจารณาถึง 3 ด้านกว้างๆ ของระบบบำเหน็จบำนาญ ได้แก่ กฎระเบียบและธรรมาภิบาล การคุ้มครองและการสื่อสารสำหรับสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

สำหรับ 10 อันดับประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุดในโลกปีนี้ ได้แก่

1.ไอซ์แลนด์ (84.7 คะแนน) ภาพรวมระดับ A

2.เนเธอร์แลนด์ (84.6 คะแนน) ภาพรวมระดับ A

3.เดนมาร์ก (82.0 คะแนน) ภาพรวมระดับ A

4.อิสราเอล (79.8 คะแนน) ภาพรวมระดับ B+

5.ฟินแลนด์ (77.2 คะแนน) ภาพรวมระดับ B+

6.ออสเตรเลีย (76.8 คะแนน) ภาพรวมระดับ B+

7.นอร์เวย์ (75.3 คะแนน) ภาพรวมระดับ B+

8.สวีเดน  (74.6 คะแนน) ภาพรวมระดับ B

9.สิงคโปร์ (74.1 คะแนน) ภาพรวมระดับ B

10.สหราชอาณาจักร (73.7 คะแนน) ภาพรวมระดับ B

สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้มีระบบบำนาญดีที่สุดในเอเชีย (อันดับ 9 ของโลก) รองลงมาคือ ฮ่องกง (อันดับ 19), มาเลเซีย (อันดับ 23), ญี่ปุ่น (อันดับ 35), จีน (อันดับ 36), ไต้หวัน (อันดับ 37), เกาหลี (อันดับ 38), อินโดนีเซีย (อันดับ 39), อินเดีย (อันดับ 41), ฟิลิปปินส์ (อันดับ 43) 

และไทยอยู่รั้งท้ายการจัดอันดับของปีนี้ (อันดับ 44) ด้วยคะแนนรวม 41.7 ภาพรวมอยู่ในระดับ D น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่  63.0 คะแนน โดยเกณฑ์ความเพียงพอไทยได้ 41.3 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 65.7 คะแนน เกณฑ์ความยั่งยืนไทยได้ 36.4 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 53.0 คะแนน และเกณฑ์ความซื่อตรงไทยได้ 50.0 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 72.9 คะแนน 

ขณะที่ในรายงานของปีก่อนหน้าซึ่งเป็นการจัดอันดับ 39 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทยก็ได้อันดับที่ 39 ทำให้เรารั้งท้ายการจัดอันดับระบบบำนาญของ MCGPI 2 ปีซ้อน

นอกจากการจัดอันดับแล้ว รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นเทรนด์ในปัจจุบันที่นายจ้างเริ่มเปลี่ยนไปใช้กองทุนบำนาญแบบ กองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution หรือ DC) มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่กองทุนบำนาญจะเป็นแบบกองทุนแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit หรือ DB) ซึ่งในไทยเราก็คือกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ที่ผู้เกษียณจะได้รับเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต (บำนาญ) แต่แผน DC จะให้ผลประโยชน์แก่บุคคลเป็นเงินก้อนเมื่อเกษียณอายุ (บำเหน็จ) ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนและทำให้บุคคลวัยเกษียณต้องแบกรับความเสี่ยงมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ รัฐบาลหลายแห่งกำลังพิจารณาลดระดับการสนับสนุนทางการเงินในช่วงเกษียณอายุ เพื่อให้แน่ใจว่าการเงินของประเทศจะมีความยั่งยืนในระยะยาว ผลก็คือจะมีบุคคลจำนวนมากที่ไม่สามารถพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากนายจ้างคนก่อน และ/หรือรัฐบาลได้อีกต่อไปในช่วงปีที่เกษียณอายุ

รายงานของ Mercer ชี้ว่าประเทศไทยพึ่งพาระบบบำนาญ 3 ด้านหลักๆ คือ 

1. ระบบประกันสังคม ที่ครอบคลุมภาคเอกชนในทุกอาชีพ (ที่เป็นแรงงานในระบบหรือเป็นผู้ประกันตนนั่นเอง) 

2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Provident Fund (ซึ่งมีในบางบริษัท)

3. ผลิตภัณฑ์การเงินส่วนบุคคล เช่น กองทุน RMF (ซึ่งส่วนมากซื้อกันเฉพาะคนที่ต้องการลดหย่อนภาษี)

รายงานของ Mercer แนะนำว่า “ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผู้กำหนดนโยบายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเกษียณอายุได้รับการสนับสนุน พัฒนา และควบคุมดูแลอย่างดี ดังนั้นเราต้องวางแผนทางการเงินให้ดีที่สุดสำหรับการเกษียณ ทั้งกระจายเงินออมเพื่อการเกษียณ และกระจายความเสี่ยงสำหรับแผนการลงทุนต่างๆ สำหรับคนที่สนใจลงทุนด้วย”

แอดมินจึงอยากชวนทุกท่านเริ่มวางแผนเกษียณกันตั้งแต่วันนี้ครับ เพราะการมอบหมายที่ถูกต้องนั้นต้องควบคู่กับการทำหน้าที่อย่างดีที่สุดด้วย ออมเงินหรือลงทุนเอาไว้เพื่อใช้ในวัยชรา แต่หากเรามีอายุขัยสั้นกว่านั้น ลูกหลานหรือคนในครอบครัวก็ยังได้มรดกจากเราครับ

ขอบคุณ workpointtoday, kaosod, amarintv

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment