ทำไมราคาสินค้าและบริการบางอย่างถึงดูเหมือนไม่ค่อยสมเหตุสมผล?
ศาสตราจารย์แดน อะเรียลี จากมหาวิทยาลัย Duke กล่าวถึงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่นักการตลาดมักใช้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้จ่ายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว นั่นคือการตั้งราคาสินค้าหรือบริการบางอย่างแบบไม่สมเหตุสมผล
มีการทดลองชิ้นหนึ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีโดยเป็นแพ็คเกจสมาชิกนิตยสารชื่อดังเจ้าหนึ่งซึ่งมี 3 ตัวเลือกดังนี้
1.สมาชิกที่อ่านนิตยสารแบบออนไลน์เท่านั้น ราคา 2,500 บาท
2.สมาชิกที่อ่านนิตยสารแบบตีพิมพ์เท่านั้น ราคา 5,000 บาท
3.สมาชิกที่อ่านนิตยสารแบบออนไลน์และจะได้รับฉบับตีพิมพ์ด้วย ราคา 5,000 บาท
เจ้าตัวเลือกที่ 2 นี่แหละครับที่ว่าเป็นเครื่องมือของนักการตลาด! เพราะเมื่อคนเห็นราคาและสิ่งที่จะได้รับ เมื่อเทียบกันแล้วใครจะสมัครตัวเลือกที่ 2 ให้โง่กันเล่า!
ไหนๆ ก็จะเสียเงิน 5,000 บาทแล้วเราก็ควรสมัครตัวเลือกที่ 3 เพื่อได้รับทั้งแบบออนไลน์และฉบับตีพิมพ์ซิ คุ้มกว่าเห็นๆ (ทั้งที่จริงๆ เราก็อ่านแค่แบบใดแบบหนึ่งนั่นแหละ)
แต่เชื่อหรือไม่ครับ ตัวเลือกที่ 3 จะยังขายดิบขายดีตราบที่ยังมีตัวเลือกที่ 2 อยู่ด้วยเท่านั้น!
เพราะจากการทดลองพบว่าเมื่อตัดตัวเลือกที่ 2 ออกไปให้เหลือเพียงตัวเลือกที่ 1 และ 3 ปรากฏว่ายอดขายของตัวเลือกที่ 3 ลดลงถึง 80% ทีเดียว
ลองนึกถึงร้านบุฟเฟ่ต์ที่มีราคาค่าหัวหลายราคาดูครับ 699, 799, 999 บาท เจ้าแพ็คเกจ 799 เนี่ยมักจะทำให้เรารู้สึกไม่คุ้มค่าไม่สมเหตุสมผลอยู่เสมอ จนสุดท้ายถ้าอยากกินบางอย่างเพิ่มจาก 699 จริงเราก็จะยอมจ่าย 999 แทนที่จะเป็น 799 ครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในมุมคนทำมาค้าขายก็ไม่ผิดที่จะใช้เทคนิคกระตุ้นยอดขายต่างๆ เหล่านี้ แต่ในมุมผู้บริโภคเราก็ควรรู้เท่าทันเช่นกันเพราะรายรับของเรามีจำกัด ถ้าเผลอตัวเผลอใจถูกกลยุทธ์การตลาดเล่นงานเอาบ่อยๆ เราอาจจะจ่ายมากกว่าที่ควรจ่ายไปเรื่อยๆ จนกระแสเงินสดติดลบก็เป็นได้ครับ
#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ