Skip links

ออมเงินแบบไหนดีนะ ?

ออมเงินแบบไหนดีนะ ?

วันนี้แอดมินจะพามาดูการออม 3 รูปแบบที่มีบนโลกใบนี้และผ่านประสบการณ์จริงของแอดมินมาแล้วนะครับโดยแบ่งได้ดังนี้ 1️.ใช้ก่อนออม 2️.ออมก่อนใช้ และ 3️.แบบผสมผสาน

ใช้ก่อนออม

วิธีคลาสสิคที่ทำกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออด รูปแบบนี้ก็เหมือนที่เราหยอดกระปุกกันตอนเด็กนั่นเองครับ คงไม่มีเด็กคนไหนได้เงิน 5 บาทแล้วหยอดทันทีใช่ป่ะครับ (ถ้ามีก็น้อยมาก) ส่วนมากแล้วคือเอาไปกิน-ใช้แล้วตกเย็นเหลือกลับบ้านเท่าไหร่ก็ค่อยหยอดลงกระปุกออมสิน

พอโตขึ้นหน่อยเราจะเริ่มได้เงินเป็นรายสัปดาห์จนกระทั่งรายเดือน ปัญหาจะเริ่มเกิดแล้วถ้าเราไม่มีวินัยเพียงพอเพราะเรามักจะใช้อย่างเพลินอุราจนสุดท้ายไม่เหลือเก็บเลยนั่นเองครับ

ไม่ต้องนึกย้อนกลับไปไกลก็ได้ เอาตอนนี้ที่เรามีเงินเดือนซึ่งมากกว่าเงินที่ได้จากพ่อแม่สมัยเรียนเป็นสิบเท่า แต่ทำไมนะเงินถึงไม่เคยเหลือเก็บ

คำตอบคือเพราะเราส่วนใหญ่คิดว่า ‘ใช้ไปก่อน ถ้าเหลือก็เก็บ ไม่เหลือก็ไม่เป็นไรไว้ว่ากันเดือนหน้า’ 

นี่แหละครับจากเดือนเลื่อนเป็นปีหรืออาจจะหลายปีที่เราปลอบใจตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเงินเหลือเมื่อไหร่ฉันจะมีเงินออมแน่นอน’

ออมก่อนใช้

วิธีนี้น่าจะเป็นพิมพ์นิยมที่นักวางแผนการเงินทุกคนจะแนะนำเรา เพราะอะไรน่ะหรือ ? เพราะมันเป็นวิธีการเดียวที่รับรองว่าเดือนนี้เราจะมีเงินออมแน่ ๆ จะมากหรือน้อยก็มีละกัน ต่างจากแบบแรกที่เราบอกไปแล้วว่ายิ่งเราโตขึ้นยิ่งใช้ได้ผลน้อยลงทุกที เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการครับ ดังที่ไอสไตน์กล่าวไว้ ‘คนที่ทำเหมือนเดิมแต่หวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ เขาคือคนบ้า’

วิธีนี้เมื่อเราได้รับเงินเราต้อง ‘ออมทันที’ โดยกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือสัดส่วน (%) ก็ได้ ส่วนใหญ่จะนิยมกำหนดเป็น % มากกว่าโดยเทียบกับรายได้

โดยสัดส่วนนี้ถ้าได้ 20-30% ถือว่าดีมาก มีโอกาสสร้างอิสรภาพทางการเงินได้สูง, ระหว่าง 10-20% ถือว่ากลาง ๆ ค่อนไปทางดี, 10% ลงมาเรียกว่าเป็นขั้นต่ำที่ควรจะทำได้แล้ว เช่น เงินเดือน 20,000 ต้องออมทันที 2,000 บาท ณ วันนี้มันดูเหมือนน้อยครับแต่วันหน้ามันจะสะสมเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเราประหลาดใจ

แต่ในกรณีที่รายจ่ายรัดตัวมาก ๆ หลังจากทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วพอเห็นช่องว่าออมได้ 1-3% ก็ต้องเอาครับ ‘น้อยแต่สม่ำเสมอ’ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

นักวางแผนการเงินมักพูดว่าเก็บออมทีละน้อยมันจะสร้างความภูมิใจให้ตัวเราด้วยว่าเราไม่ได้หาเงินมาเพื่อใช้หนี้หรือใช้จ่ายจนหมดเกลี้ยงทุกเดือนเพียงเท่านั้น แต่อย่างน้อย ๆ มีก้อนหนึ่งที่เราสะสมไว้ได้บ้าง 

แบบผสมผสาน

กล่าวคือยึดแบบที่สองเป็นหลัก เช่น เงินเดือน 20,000 บาท เราออมทันที 10% = 2,000 บาท และเมื่อถึงสิ้นเดือนเรามีเงินเหลือจากการใช้จ่ายอีก 1,000 เราก็ออมเพิ่ม เดือนนั้นเราจะมีเงินออม 3,000 บาท หรือคิดเป็น 15% ของรายได้ 20,000 บาทนั่นเองครับ

แล้วเพื่อน ๆ ใช้วิธีออมรูปแบบไหนกันอยู่ครับ ?

Leave a comment