Skip links

ทำไมไม่กำหนดอัตราผลตอบแทนเงินฝากแบบตายตัว ?

ทำไมไม่กำหนดอัตราผลตอบแทนเงินฝากแบบตายตัว ?

การฝากเงินกับสถาบันการเงินทั่วไปนั้นจะอยู่ในรูปของการกู้ยืม กล่าวคือผู้ฝากเงินจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้และสถาบันการเงินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฝากเงินตามอัตราที่กำหนดไว้เช่น ร้อยละ 1 ต่อปี ร้อยละ 2 ต่อปี โดยที่ผู้ฝากเงินนั้นไม่ต้องสนใจว่าสถาบันการเงินนั้นๆ จะมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร กำไรหรือขาดทุน ขอแค่จ่ายดอกเบี้ยตามอัตราและช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ก็พอ ซึ่งถือเป็นธุรกรรมดอกเบี้ยที่ผิดหลักการศาสนา

เช่น สมหมายฝากเงิน 1 ล้านบาทให้ธนาคารแห่งหนึ่งซึ่งสัญญาจะจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เมื่อครบปีสมหมายก็จะได้ดอกเบี้ย 10,000 บาท

แต่ในกรณีของสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺนั้นบัญชีเงินฝากมุชารอกะฮฺ (หุ้น) และมุฎอรอบะฮฺ (ร่วมลงทุน) นั้นไม่ใช่การกู้ยืมโดยสิ้นเชิง เป็นการร่วมลงทุนโดยตกลงกันไว้อย่างชัดเจนว่าจะแบ่งกำไรกันในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น 50:50 ซึ่งผลตอบแทน (ของบัญชีมุฎอรอบะฮฺ) หรือปันผล (ของบัญชีมุชารอกะฮฺ) ก็จะถูกคิดจากกำไรแท้จริงที่ได้จากผลการดำเนินงาน จากนั้นก็นำไปหารสัดส่วนหุ้นของผู้ฝากแต่ละคนอีกที

เช่น อุมัรฝากเงินแบบมุฎอรอบะฮฺ 1 ล้านบาท โดยในสัญญาระบุไว้ว่าจะแบ่งผลกำไรกัน 50:50 เมื่อครบปีสหกรณ์มีกำไร 500,000 บาท สหกรณ์จะได้รับส่วนแบ่งกำไร 250,000 บาท (ซึ่งจะนำไปหักรายจ่ายอื่นๆ อีกทีจนกลายเป็นกำไรสุทธิแล้วคิดเป็นเงินปันผลแก่ผู้ฝากแบบมุชารอกะฮฺตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้) 

ส่วนอุมัรถ้าเป็นผู้ฝากเงินเพียงคนเดียวก็จะได้ส่วนแบ่ง 250,000 บาทที่เหลือในทันที แต่ในความจริงแล้วยังมีผู้ฝากเงินมุฎอรอบะฮฺคนอื่นร่วมด้วย สมมติว่ามีอีก 9 คน คนละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 10 คน เงินทุน 10 ล้านบาท ก็ต้องนำ 250,000 บาทไปหาร 10 สรุปว่าแต่ละคนจะได้ผลตอบแทนคนละ 25,000 บาท

สรุปว่าผลตอบแทนหรือปันผลของสหกรณ์อิสลามนั้นขึ้นอยู่กับ

1.ผลการดำเนินงานที่แท้จริง

2.สัดส่วนการแบ่งกำไรตามที่ตกลงกันไว้

3.จำนวนผู้ฝากและจำนวนเงินของผู้ฝากในประเภทบัญชีนั้นๆ

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment