Skip links

อย่าหยุดแบ่งปันแม้ในวันที่มีน้อย

แอดมินเคยมีลูกหนี้คนหนึ่งที่ล่าช้าในการชำระหนี้นานเป็นปีๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในบ้านไม่สู้ดีนัก รายได้ไม่แน่นอนและไม่พอใช้จ่ายด้วยซ้ำ

ครั้งหนึ่งเราคุยกันเรื่องซะกาต เขาบอกว่าชีวิตนี้ยังไม่เคยออกซะกาตวาญิบเลยสักครั้ง (หมายความว่าเขาไม่ได้มีเงินเย็นมากขนาดถึงนิศอบและอยู่นิ่งๆ จนครบรอบปีได้) แต่ทุกครั้งที่เขามีรายได้เขาจะบริจาค 2.5% ไปเลย เท่ากับสัดส่วนของซะกาตนั่นแหละ เขาย้ำว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ชีวิตนี้คงไม่ได้ทำรุกนุลอิสลามข้อนี้สักทีแน่ๆ

หลายคนคิดว่าการจะบริจาคหรือแบ่งปันนั้นเราต้องมีมากๆ ก่อน แล้วเหลือจากรายจ่ายจำเป็นก็ค่อยแบ่งปัน ใช่ครับ! คิดแบบนั้นไม่ได้ผิดเลย มันคือการวางแผนที่จะทำให้การเงินส่วนตัวหรือครอบครัวของเราไม่สะดุดจากการบริจาคหนักมือเกินไปในบางครั้ง อย่าลืมว่านบีเคยชื่นชมอบูบักรที่บริจาคจนหมดตัว และนบีก็เคยห้ามเศาะหาบะฮ์อีกท่านจากการบริจาคเกิน 1/3 โดยท่านบอกว่า 1/3 ก็เยอะแล้ว

แต่ 2.5% มันคือ 1 ใน 40 ส่วน คงไม่มากเกินไปนัก ซึ่งงแน่นอนว่าเมื่อเป็นการบริจาคโดยสมัครใจ (เศาะดะเกาะฮ์) ก็หมายความว่าไม่ได้บังคับให้ต้องได้เรทนี้นะครับ แค่ยกกรณีศึกษามาเล่าให้ฟังเป็นไอเดียว่าเราสามารถจัดการอิบาดะฮ์แบ่งปันให้เข้ากับบริบทส่วนตัวยังไงได้บ้าง ส่วนใครสะดวก 1% ก็ว่ากันไป ไว้มีเงินถึงเกณฑ์ซะกาตวาญิบค่อยจ่าย 2.5% ก็ได้ครับ

สุดท้ายอยากจะฝากหะดีษบทหนึ่งที่บันทึกโดยอันนะสาอี ชัยคุลอัลบานีกล่าวว่าหะดีษหะสัน

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ: سَبَقَ دِرْهَمٌ مِائَةَ أَلْفِ دِرْهَمٍ. قَالُوا: وَكَيْفَ؟ قَالَ: كَانَ لِرَجُلٍ دِرْهَمَانِ تَصَدَّقَ بِأَحَدِهِمَا، وَانْطَلَقَ رَجُلٌ إِلَى عُرْضِ مَالِهِ فَأَخَذَ مِنْهُ مِائَةَ أَلْفِ دِرْهَمٍ فَتَصَدَّقَ بِهَا. رواه النسائي وحسنه الألباني.

อบูฮุร็อยเราะฮ์ เล่าว่า แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “หนึ่งดิรฮัมได้เอาชนะหนึ่งแสนดิรฮัมแล้ว” บรรดาเศาะหาบะฮ์ถามว่า “เป็นไปได้อย่างไรครับ?” ท่านตอบว่า “ชายคนหนึ่งมีเงินอยู่เพียง 2 ดิรฮัม แล้วเขาก็บริจาคออกไป 1 ดิรฮัม ส่วนชายอีกคนนึงมีทรัพย์สินมหาศาล แล้วเขาก็นำออกมาบริจาค 1 แสนดิรฮัม” 

เห็นไหมครับจำนวนน้อยอาจไม่ใช่ประเด็นอีกแล้ว ขอแค่เรามีความบริสุทธิ์ใจในการงานที่ทำ ผลตอบแทน ณ อัลลอฮ์นั้นเกินกว่าที่เราคาดหมายแน่นอนครับ

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment