การตั้งเป้าหมายทางการเงินนั้นมีหลักการหนึ่งที่นิยมใช้กันนั่นคือ SMART ซึ่งเป็นอักษรย่อของคำ 5 คำ คือ
1.Specific ชัดเจน
2.Measurable วัดผลได้
3.Accountable รู้ว่าต้องทำอย่างไร
4.Realistic ทำได้จริง
5.Time Bound มีกำหนดเวลาแน่นอน
ส่วนตัวแอดมินว่าความจริงแล้ว R น่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายมากกว่า หลังจากที่ระบุเป้าหมายได้ชัดแล้ว วัดผลเป็นจำนวนเงินที่ต้องใช้ได้แล้ว รู้ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการบรรลุเป้าหมายจะแค่ออมทรัพย์ธรรมดาหรือลงทุนในสินทรัพย์ใด ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อได้ตัวแปรทั้งหมดนี้ถึงจะสามารถบอกได้ว่ามันทำได้จริงหรือฝันเฟื่องเกินไป และถ้ามันฝันเฟื่องจริงจะปรับแก้ได้อย่างไร ?
แต่ถ้าจะเขียนชื่อหลักการให้เป็น SMART มันก็ต้องเรียงแบบนั้นแหละเนอะ จะเป็น SMATR มันก็ดูแปลกๆ เอาเป็นว่าเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการนำมาใช้ก็พอเนอะ
มาดูตัวอย่างกันบ้างดีกว่า… อะลีเก็บเงินเพื่อแต่งงานกับอุลยาโดยมีค่าใช้จ่าย (มะฮัรและวะลีมะฮ์) 1,000,000 บาท โดยอะลีมีเวลาหาเงินภายใน 2 ปี ซึ่งอะลีตั้งใจจะฝากบัญชีออมทรัพย์ของสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺเดือนละ 5,000 บาท
ลองเอาเข้าสูตรของเราดูหน่อยว่าอะลีจะสมหวังหรือไม่ ?
S เป้าหมายชัดว่าเพื่อแต่งงาน ผ่าน ✅️
M วัดผลได้ 1 ล้านบาท ผ่าน ✅️
A ออมเงินเดือนละ 5,000 บาท ผ่าน ✅️
R ระยะเวลา 2 ปี ออมเดือนละ 5,000 ได้เงินแค่ 120,000 บาท ไม่ผ่าน ❌️
T กรอบเวลา 2 ปี ผ่าน ✅️
เมื่อไม่ผ่านก็ต้องปรับแก้ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
1.ปรับแก้แค่ 1 ตัวแปร
๐ ถ้าลดค่าใช้จ่ายแต่งงานให้เหลือ 120,000 บาทได้ ทุกอย่างจบ (แต่อะลีอาจจะต้องเปลี่ยนตัวเจ้าสาว)
๐ ถ้าลดไม่ได้ขอยืดเวลาได้ไหม? ถ้ายืดเป็น 200 เดือน (เกือบ 17 ปี) ได้ ทุกอย่างก็จบ (แต่อุลยาอาจจะรอไม่ไหว)
๐ ถ้ายืดเวลาไม่ได้ก็ต้องออมให้ได้เดือนละ 41,666.67 บาท ก็ยังแต่งงานตามกรอบเวลาเดิมได้ (แต่อะลีจะหาเงินไหวหรือเปล่า ? ทุกวันนี้หาได้แค่เดือนละ 15,000 เอง ที่ตอนแรกตั้งใจออมเดือนละ 5,000 เพราะมันเหลือเท่านั้นจริงๆ)
2.ปรับแก้หลายตัวแปร
๐ ลดค่าใช้จ่ายแต่งงานเหลือ 600,000
๐ ยืดกรอบเวลาเป็น 5 ปี
๐ ออมให้ได้เดือนละ 10,000 บาท
ถ้าได้ตามนี้ทุกอย่างก็ลงตัวตามหลัก SMART
ลองเอา SMART ไปตั้งเป้าหมายอื่นๆ ทางการเงินกันดูนะครับ เช่น จะไปทำหัจญ์ (S) ใช้เงินเท่าไหร่ (M) เก็บเงินด้วยวิธีไหน (A) ทำได้จริงหรือไม่ (R) กรอบเวลานานแค่ไหน (T) แล้วโอกาสหน้าเราจะมาลองดูว่าเมื่อมีหลายเป้าพร้อมๆ กันเราจะวางแผนอย่างไร อินชาอัลลอฮ์
อย่าลืมกด “ถูกใจ” และ “ติดตาม”
เพจสหกรณ์อิสลามอมานะฮฺเอาไว้
แล้วกลับมาติดตามบทความดีๆ ได้
ทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 9:00 น.
และถ้าชอบบทความไหน
ก็อย่าลืมแชร์ไปให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันด้วยนะครับ
#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ