Skip links

ซะกาตการค้าคำนวนอย่างไร ?

ซะกาตการค้าคำนวนอย่างไร ?

สำหรับซะกาตการค้าแบ่งเป็น 2 ประเภทประเภทแรก การค้าที่เป็นฤดูหรือเฉพาะกิจ เช่น มีต้นทุนอยู่ก้อนหนึ่ง เมื่อรู้ว่าสินค้าหนึ่งสินค้าใดตลาดกำลังนิยมอยู่ก็รีบซื้อและขายเฉพาะสินค้านั้นในเวลานั้น การค้าประเภทนี้ถ้าจำนวนต้นทุนรวมถึงกำไรบรรลุจำนวนนิศอบของซะกาต (คือมูลค่าทองคำ 85 กรัม) ก็ต้องออกซะกาตจากต้นทุนและกำไร 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องรอคอยให้ครบ 1 ปี หมายถึงเมื่อขายสินค้าหมดแล้วและได้กำไรก็ให้คำนวณต้นทุนกับกำไรโดยหักค่าใช้จ่ายด้วยและออกซะกาต ถ้าขายสินค้าไม่หมดก็ให้คิดต้นทุนกับกำไรเฉพาะของสินค้าส่วนที่ขายได้เท่านั้น

ตัวอย่าง ช่วงชะอฺบานถึงเราะมะฎอนอินทผลัมจะขายดี เราจึงไปรับมาขายเฉพาะฤดูกาลนี้

กรณีที่หนึ่ง สมมติต้นทุน 1 แสนบาท เมื่อขายจนหมดได้กำไร 2.5 หมื่นบาท รวมทุนและกำไร 1.25 แสนบาทยังไม่ครบพิกัดก็ไม่ต้องออกซะกาต

กรณีที่สอง ต้นทุน 2 แสนบาท เมื่อขายจนหมดได้กำไร 5 หมื่นบาท รวมทุนและกำไร 250,000 บาท ก็นำส่วนนี้มาคิดซะกาต 2.5% แล้วจ่ายทันทีไม่ต้องรอให้ครบรอบปี

กรณีที่สาม ยังมีสินค้าบางส่วนเหลืออยู่ถ้าขายจนหใดจะได้อีก 20,000 บาท ก็ยังไม่ต้องคิดซะกาตจากส่วนนี้ เมื่อขายได้เมื่อไหร่ค่อยนำมาคิดซะกาตเพิ่มคือ 2.5% ของ 20,000 บาท

ประเภทที่สอง การค้าที่ทำเป็นประจำ หมายถึง ซื้อขายอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นมืออาชีพหรือเป็นรายได้ประจำก็ให้กำหนดวันนับต้นปีและปลายปี เช่น เริ่มนับทุกวันที่ 1 เราะมะฎอน เมื่อครบ 1 ปีให้คำนวณต้นทุนของสินค้าที่ซื้อขาย (ไม่คิดต้นทุนอุปกรณ์เครื่องมือเช่น มูลค่าอาคาร โต๊ะ ฯลฯ) รวมถึงกำไรที่ได้มาจากการค้าตลอด 1 ปี หลังหักค่าใช้จ่ายและออกซะกาต 2.5 เปอร์เซ็นต์จากต้นทุนและกำไรที่คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายโดยไม่คิดกำไรสินค้าที่ยังไม่ได้ขาย หมายถึงให้คิดต้นทุนกับกำไรของสินค้าที่ขายเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

ตัวอย่าง เปิดร้านขายมือถือต้นทุน 1 ล้านบาท ณ จุดเริ่มต้นแบ่งเป็นค่าทำร้านและอุปกรณ์สำนักงาน 1 แสนบาท ซื้อมือถือเข้าคลังสินค้า 8 แสนบาท เหลือเงินทุนหมุนเวียน 1 แสนบาท ระหว่างปีก็มีการซื้อสินค้าเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จากต้นทุนเดิมและกำไรที่ได้มา เมื่อครบรอบปีบัญชีก็ให้ดูว่า เหลือทรัพย์สินสภาพคล่องเท่าไร เช่น เหลือเงินสด (หลักหักค่าใช้จ่าย) เท่าไร เหลือสินค้าในคลังคิดเป็นมูลค่าเท่าไร (คิดจากต้นทุนหรือจากราคาขาย ณ เวลานั้นก็ได้) เช่น เหลือเงินสด 1 แสน และมือถือในคลังมูลค่ารวม 1.2 ล้านบาท ก็ให้คิดซะกาต 2.5% จากยอด 1.3 ล้านบาท

วัลลอฮุอะอฺลัม

Leave a comment