ทำสัญญากู้ยืม ถูกกฎหมาย ได้ผลบุญ ค้ำจุนสังคม
อิสลามสอนให้มนุษย์หลีกเลี่ยงความอธรรม รวมถึงสื่อที่จะนำไปสู่ความอธรรมด้วย และหนึ่งในสิ่งที่อิสลามส่งเสริมเวลามีการกู้ยืมกันคือการจดบันทึกพร้อมมีพยานรู้เห็น ไม่ว่าจำนวนที่กู้ยืมจะมากหรือน้อยก็ตาม
ทั้งนี้อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรอานอย่างชัดเจนว่า
ذَٰلِكُمْ أَقْسَطُ عِندَ اللَّهِ وَأَقْوَمُ لِلشَّهَادَةِ وَأَدْنَىٰ أَلَّا تَرْتَابُوا ۖ
ความว่า “นั่นแหละคือสิ่งที่ยุติธรรมยิ่งกว่า ณ ที่อัลลอฮ์ และเที่ยงตรงยิ่งกว่าสำหรับเป็นหลักฐานยืนยัน และเป็นสิ่งใกล้ยิ่งกว่าที่พวกเจ้าจะไม่สงสัย” (อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 282)
หลายคนให้ยืมโดยไม่จดบันทึก แล้วก็ลืมว่าให้ยืมไปเท่าไหร่ ฝ่ายผู้ยืมก็เช่นกันถ้าไม่จดบันทึกก็อาจลืมได้ หากเจ้าหนี้บอกยอดเกินโดยที่ลูกหนี้จำไม่ได้และปล่อยเลยตามเลยก็อาจเกิดการอธรรมได้ ในทางกลับกันถ้าลูกหนี้บอกยอดต่ำกว่าแล้วเจ้าหนี้ปล่อยเลยตามเลยก็อาจอธรรมกันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้จะมีเจตนาช่วยเหลือด้วย
ฉะนั้นการบันทึกรายละเอียดไว้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ชัดเจนทั้งสองฝ่าย ยืมเท่าไหร่ วันไหน บ้างให้ระบุวัตถุประสงค์ของการยืมเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้ยืมนั้นไม่ได้เอาเงินไปส่งเสริมการกระทำที่ผิดศีลธรรม เพราะศาสนาเรียกการให้ยืมปลอดดอกเบี้ยว่าเป็น “การให้ยืมที่ดี” แล้วจะนำไปใช้ในเรื่องผิดหลักการได้เยี่ยงไร ?
นอกจากจำนวนที่ให้ยืมแล้ว ก็มีการกำหนดวันเวลาที่จะชำระคืนด้วย จะเป็นงวดเดียวหรือแบ่งหลายงวดก็ตามที สลัฟบางท่านไปทำหัจญ์ทุกปี ก็จะไปรับผ้ามาขายโดยเครดิตไว้ก่อน พอกลับมาทำหัจญ์ใหม่ปีหน้าค่อยเอาเงินค่าผ้าของปีที่แล้วมาชำระ
เมื่อครบกำหนด ถ้าไม่มีการชำระตามสัญญา หากมีเหตุจำเป็นศาสนาก็ส่งเสริมให้ผู้ให้ยืมนั้นผ่อนปรนการชำระหนี้สินออกไป โดยในทุกวันที่เขายืดเวลาออกไปให้แก่ลูกหนี้นั้น ท่านนบีบอกว่าจะได้รับผลบุญเหมือนการบริจาคด้วยเงินก้อนนั้น
ลูกหนี้ (ผู้ยืม) ได้ให้คำมั่นสัญญาแก่เจ้าหนี้ (ผู้ให้ยืม) แล้วว่าจะชำระด้วยวิธิการใด จำนวนเท่าไหร่ ระยะเวลานานแค่ไหน นี่เป็นการสอนให้ลูกหนี้ได้วางแผนล่วงหน้าแล้วว่าหลังจากยืมเงินก้อนนี้ไป เขาต้องหาเงินให้ได้ตามแผน เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เพราะหากไม่มีกำหนดเวลาชำระคืนแล้วไซร้ ลูกหนี้ก็คงล่าช้าในการคืนไปเรื่อย ๆ จนลืมกันไปข้างนึง (ยืมลืม)
อัลลอฮฺส่งเสริมให้พยานตอบรับเมื่อถูกเรียกร้องให้เป็นพยานในการกู้ยืม เผื่อมีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาลกันภายหลังได้ว่ากันได้ว่ามีการยืมกันจริง และใครกันแน่ที่ผิดสัญญา
ท้ายนี้… อยากจะบอกว่า…
“สิ่งที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้ ณ วันที่กู้ยืมนั้นหาใช่เพียงทรัพย์สิน แต่มันคือความไว้เนื้อเชื่อใจและความเมตตาที่เขามีแก่ลูกหนี้ซึ่งมีค่ากว่าทรัพย์สินด้วยซ้ำไป ฉะนั้นจงอย่าทำลายมันด้วยการผิดสัญญา”
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่อายะฮฺที่ 282 ของอัลบะเกาะเราะฮฺ (หน้ารองสุดท้ายตามมุศหัฟมะดีนะฮ์) ซึ่งเป็นอายะฮ์ที่ยาวที่สุดในอัลกุรอาน
#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ