Skip links

ตัวอย่างการคำนวณส่วนแบ่งเพื่อล็อคกำไรในการร่วมทุนแบบมุฎอเราะบะฮฺ

ตัวอย่างการคำนวณส่วนแบ่งเพื่อล็อคกำไรในการร่วมทุนแบบมุฎอเราะบะฮฺ

เราได้อธิบายไปแล้วถึงการร่วมทุนแบบมุฎอเราะบะฮฺที่หมายถึงฝ่ายหนึ่งลงทุนและอีกฝ่ายลงแรง ส่วนแบ่งกำไรก็ตามแต่ตกลงไว้ตอนทำสัญญา เช่น ผู้ลงทุน 40 : 60 ผู้ลงแรง

ทั้งนี้การลงทุนในปัจจุบันนักลงทุนมักต้องการรู้ล่วงหน้าว่าเขาจะได้กำไรประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปีเพื่อจะได้เปรียบเทียบผลตอบแทนนี้กับการลงทุนอื่นๆ (นักลงทุนมักเลือกที่ผลตอบแทนมากกว่าเสมอหากความเสี่ยงเท่าๆ กัน)

แล้วถ้าเราจะร่วมทุนมุฎอเราะบะฮฺเองบ้าง (แบบไม่ได้ทำกับสหกรณ์) เราทำอย่างไรให้ได้ตัวเลขเหล่านี้ ?

ความจริงคือใช้คณิตศาสตร์เข้ามาช่วยนิดหน่อยก็พอครับ แต่วิธีนี้จะใช้ได้กับธุรกิจที่กำไรค่อนข้างแน่นอนเท่านั้นนะครับ เช่น ผมต้องการซื้อสินค้ามาขายโดยรู้แน่ๆ ว่าผมจะได้กำไรสุทธิจากสินค้าชิ้นหรือล็อตนี้คิดเป็น 30% ของต้นทุน

ผมเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้าแต่ไม่มีเงินไปซื้อของมาขาย เพราะลูกหนี้ไม่ยอมใช้หนี้สักที 😩 ครั้นจะปล่อยโอกาสทองนี้หลุดมือไปก็กระไรอยู่ ผมจึงหาเพื่อนร่วมลงทุน ซึ่งเพื่อนบอกว่าอยากได้กำไรประมาณ 10% จากเงินต้น เช่นนี้แล้วต้องแบ่งสัดส่วนกำไรอย่างไรตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์

ลองคิดตามง่ายๆ ดูครับ

-ต้นทุน 10,000 บาท

-ขายได้แน่ๆ 13,000 บาท

-กำไรสุทธิ 3,000 บาท (30% ของต้นทุน)

-เพื่อนต้องการกำไร 1,000 บาท (10% ของเงินต้น)

ต้องคิดส่วนแบ่งกำไรเท่าไหร่ ?

จับกำไรที่เพื่อนต้องการหารกำไรสุทธิ

จะได้ 1,000/3,000 = 33.33%

📌 สรุปตอนทำสัญญามุฎอเราะบะฮ์ต้องกำหนดสัดส่วน ผู้ลงทุน 33.33 : 66.67 ผู้ลงแรง 

ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะคาดการณ์กำไรได้เป๊ะ ๆ แบบนี้ บางทีของที่ว่าจะขายได้ก็ดันขายไม่ออก ต้องทำโปรลดแลกแจกแถม ทำให้กำไรสุทธิลดลง เช่น จากจะขายได้กำไร 3,000 พอลดแล้วเหลือกำไร 2,000 ผู้ลงทุนก็จะได้กำไรไม่ถึง 10% ของต้นทุนแล้ว เพราะเราต้องดูผลประกอบการจริงเป็นหลัก

หรือช่วงที่เราจะขายจริง ตลาดปรับราคาขึ้นกันหมด จะขายตัดราคาก็น่าเกลียด เราก็ขึ้นไปเป็นราคาตลาด กลายเป็นว่าได้กำไรสุทธิ 4,000 ผู้ลงทุนก็จะได้กำไรเยอะกว่า 10% ของต้นทุน

ที่คิดให้ดูเพราะอยากจะบอกว่าในตอนทำสัญญามันพอจะคำนวณได้ว่า ถ้าอยากได้เท่านี้ต้องกำหนดเท่าไหร่ และถ้าธุรกิจเป็นไปตามคาดผู้ร่วมทุนก็จะได้ตามที่หวัง

ที่สำคัญยังมีประเด็นกำไร/ขาดทุนด้านเวลาด้วย เช่น เรากะว่าจะขายของล็อตนี้หมดใน 1 ปี ปรากฏว่า ขายหมดใน 2 ปี แต่ยังได้กำไร 3,000 เช่นนี้ถือว่าขาดทุนกำไรด้านเวลา เพราะถ้าขายได้ใน 1 ปี อาจหมายความว่าในปีที่ 2 ก็ขายได้เช่นเดิมอีก คือกำไรปีแรก 3,000 ปีสองอีก 3,000 รวมเป็น 6,000 แต่พอขายไม่หมดในกรอบเวลา ทำให้ใช้เวลาสองปีได้กำไรเพียง 3,000 นั่นเอง

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน

#สหกรณ์อิสลามอมานะฮฺ เพื่อชีวิตที่ใกล้ชิดหลักการ

Leave a comment